เราปกป้องบ้านและทรัพย์สินของคนไทยจากสัตว์รบกวนมามากกว่า 38 ปี
© 2025 Rentokil Initial plc โดยอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขและข้อจำกัดของ กฎหมายกำหนด.
แมลงทำลายไม้ หมายถึง แมลงในไฟลัมอาร์โทรพอด (Arthropod) ที่สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างไม้ต่างๆ แมลงกลุ่มนี้มีหลายสายพันธุ์และวงจรชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่ตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย
หนอนกินไม้ เป็นสัตว์รบกวนที่พบมากที่สุดชนิดหนึ่ง มันคือตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งจำพวกด้วง ซึ่งกินไม้หลังจากฟักออกจากไข่แล้ว
ด้วงหนวดยาว มีสามสายพันธุ์ที่ชอบวางไข่ในไม้ ทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านและอาคารต่างๆ
ตัวอ่อนผีเสื้อกลางคืน บางสายพันธุ์ทำให้ต้นไม้เสียหาย ด้วยการขุดโพรงเข้าไปในเปลือกและกระพี้ไม้ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเขตป่าไม้
แมลงทำลายไม้ ถือเป็นแมลงรบกวน เนื่องจากมันทำความเสียหายทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบท สำหรับในเมือง แมลงทำลายไม้สร้างความเสียหายกับที่อยู่อาศัยอย่างมาก ส่วนในพื้นที่เกษตรกรรมหรือชนบท แมลงทำลายไม้เป็นสาเหตุทำให้พืชผลเสียหาย อย่างไรก็ตาม ควรทราบด้วยว่าแมลงทำลายไม้บางประเภทมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำหน้าที่ย่อยสลายต้นไม้ที่ตายแล้ว มีบางกรณีที่แมลงทำลายไม้เป็นปัญหาแพร่ระบาดในป่า และทำให้ต้นไม้ตายเป็นจำนวนมาก
แมลงปีกแข็งจำพวกด้วง เป็นสัตว์กลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมีทั้งหมด 400,000 สายพันธุ์ 500 วงศ์ แมลงกลุ่มนี้มีความหลากหลาย โดยมีสายพันธุ์ที่สามารถปรับให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ทุกรูปแบบและกินอาหารได้จากทุกที่ ทั้งจากการเกษตร พืชสวน พันธุ์ไม้ป่า และผลิตภัณฑ์จากไม้ป่า หลายสายพันธุ์เป็นตัวห้ำหรือแมลงนักล่าแมลงรบกวนชนิดอื่น
แมลงปีกแข็งจำพวกด้วง มีองค์ประกอบของร่างกายพื้นฐาน คือ ส่วนหัว อก และท้อง แต่มีลักษณะพิเศษ คือ เปลือกหรือโครงกระดูกภายนอกที่แข็ง ปีกคู่หน้าแข็ง และส่วนท้องที่ประกอบด้วยแผ่นแข็งหลายแผ่น พวกมันมีวงจรชีวิตเหมือนแมลงทั่วไป คือ ระยะไข่ ตัวอ่อน (แบ่งออกเป็นหลายระยะ) ดักแด้ และตัวเต็มวัย
หนอนกินไม้เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกแมลงปีกแข็งจำพวกด้วงในระยะตัวอ่อน ซึ่งจะกินไม้หลังจากที่ฟักออกจากไข่แล้ว โดยจะกัดกินไม้เข้าไปเป็นอุโมงค์ และจะออกมาจากไม้หลังระยะดักแด้เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นตัวเต็มวัย ทำให้เห็นรูเจาะบนผิวไม้
อาจเกิดความเข้าใจผิดว่า สามารถฉีดยาฆ่าแมลงเข้าไปในรูเพื่อกำจัดตัวด้วงได้ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เนื่องจากรูดังกล่าวเป็นสิ่งที่บอกว่าตัวด้วงได้ออกมาภายนอกเรียบร้อยแล้ว
แมลงจำพวกด้วงที่ทำความเสียหายให้กับโครงสร้างไม้ อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสิ่งของอื่นๆ ในอาคาร สามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม เรียกโดยทั่วไปว่า ด้วง Deathwatch (วงศ์ Anobiidae ) มอดขี้ขุย และมอดขี้ขุยเทียม (วงศ์ Bostrichidae)
ศึกษาวิธีการกำจัดหนอนกินไม้ในบ้านและธุรกิจคุณ
เรียนรู้การหาสัญญาณของหนอนกินไม้
ด้วง Deathwatch
หลายสกุลและสายพันธุ์ในวงศ์ Anobiidae ถูกเรียกรวมว่า ด้วง Deathwatch ด้วงเหล่านี้รู้จักกันดีในยุโรป และชื่อของมันคือ Xestobium rufovillosum อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา ด้วง Pacific deathwatch Hemicoelus gibbicollis เป็นสายพันธุ์ที่พบได้มากในแคลิฟอร์เนีย สำหรับพื้นที่อื่นของโลก จะเรียกสายพันธุ์ Xyletinus spp และ Ptilinus ruficornis ว่า ด้วง Deathwatch
ด้วงพวกนี้ถูกเรียกว่า Deathwatch ตามพฤติกรรมของมันที่ชอบเคาะไม้ในตอนกลางคืนเพื่อหาคู่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านยุโรปจะเกี่ยวโยงกับ ‘ยมฑูต’ ที่เคาะเคียวเพื่อประกาศความตายที่กำลังจะมาถึง
ด้วง Deathwatch ชอบทำลายไม้เนื้ออ่อนที่มีความชื้นสูงกว่า 14% และผุบางส่วน มักพบด้วงเหล่านี้ในอาคารที่มีความชื้นหรือบริเวณอาคารที่มีระบบระบายน้ำไม่ดี มักไม่พบด้วงเหล่านี้ในอาคารที่มีระบบทำความร้อนแบบรวมศูนย์ซึ่งมีความชื้นต่ำ
ตัวอ่อนของด้วงชนิดนี้จะเติมอุโมงค์ที่ตัวเองเจาะด้วยผงที่ค่อนข้างสาก แต่จะหยาบน้อยกว่าของมอดขี้ขุยเทียม รูทางออกของมันมีขนาดต่างกันไป แต่จะมีขนาดใหญ่กว่ารูของด้วงก้นตัด
มอดเครื่องเรือน Anobium punctatum
มอดเครื่องเรือน เป็นแมลงปีกแข็งซึ่งเป็นศัตรูต่อต้นสนและกระพี้ไม้เนื้อแข็งที่ผ่านกระบวนการผึ่งแห้ง มันสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างไม้และส่วนเชื่อมต่อของไม้ ตัวเมียจะวางไข่ในรอยแยกบนผิวไม้หรือในรูทางออกเก่า ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายในไม่กี่สัปดาห์และเจาะไชเข้าไปในไม้ ตัวอ่อนใช้เวลาเติบโต 3-4 ปี โดยเจาะกินไม้เข้าไปเรื่อยๆ หลังจากลอกคราบแล้ว ตัวเต็มวัยจะทำรูทางออกบริเวณใกล้ผิวเนื้อไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 มม. การระบาดของด้วงสังเกตได้จากฝุ่นผงที่เห็นได้รอบๆ รู เนื่องจากระยะตัวอ่อนใช้เวลาหลายปี จึงทำให้มองเห็นสัญญาณการรุกรานของมันได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ระยะเวลาในการโตเป็นตัวเต็มวัยขึ้นอยู่กับประเภทไม้ อุณหภูมิ และความชื้น
มอดขี้ขุยในวงศ์ Bostrichidae มีมากกว่า 700 สายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยมอดที่เป็นสัตว์รบกวนไม้ที่อยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่นและเขตร้อน
มอดขี้ขุยเทียม
มอดขี้ขุยเทียม เป็นแมลงศัตรูไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อนบางชนิด ไม้เขตร้อนและไม้ไผ่ที่นำออกจำหน่ายระหว่างประเทศมักมีปัญหามอดเหล่านี้ ผลิตภัณฑ์ที่มักถูกมอดเหล่านี้รบกวน ได้แก่ ไม้ปูพื้น บานไม้ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์จากไม้เนื้อแข็งอื่นๆ
มอดขี้ขุยตัวเมียไม่วางไข่บนผิวเนื้อไม้ แต่จะขุด 'ช่อง' ในเนื้อไม้เพื่อวางไข่ในหลุมหรือรอยแตกของไม้ ตัวอ่อนของมอดกลุ่มนี้เติมช่องว่างในอุโมงค์ของมันด้วยผงหยาบ ซึ่งต่างจากแมลงทำลายไม้ประเภทอื่น
มอดขี้ขุย
แมลงกลุ่มนี้ถูกจำแนกอยู่ในวงศ์ย่อยใหม่ ภายใต้วงศ์ด้วง Bostrichidae เรียกว่า Lyctinae เดิมถูกจัดแยกอยู่ในวงศ์ Lyctidae ดังนั้นคำอธิบายบางส่วนยังคงอ้างอิงถึงการจำแนกแบบเดิม โดยมีทั้งหมด 11 สายพันธุ์ ในสกุล Lyctus ที่ได้รับการบันทึกจากหน่วยงานว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ Global Biodiversity Information Facility
Lyctus brunneus เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในยุโรป และยังพบบันทึกว่า มีในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น (Global Biodiversity Information Facility, www.gbif.org) ในประเทศไทย มีบางสายพันธุ์ได้รับการรายงานในวารสาร Tropical Natural History โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น Micrapate simplicipennis (Lesne) จะจำกัดอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศ และที่พบทางภาคใต้ เช่น Xylopsocus radula Lesne
มอดขี้ขุย มักกินกระพี้ไม้เนื้อแข็งบางชนิดและไม้ไผ่ที่ในเนื้อไม้มีรูขนาดใหญ่ซึ่งมันสามารถวางไข่ได้ และในไม้ที่มีปริมาณแป้งสูง เช่น โอ้ค (Oak) แอช (Ash) วอลนัท (Walnut) และมะฮอกกานี (Mahogany) เป็นต้น ไม้เนื้อแข็งนำเข้า มักมีปัญหามอดชนิดดังกล่าว ส่วนไม้เนื้อแข็งที่มีรูขนาดเล็ก เช่น ไม้เบิร์ช (ฺBirch) และเมเปิ้ล (Maple) และไม้เนื้ออ่อนจากสนซึ่งมีธาตุอาหารน้อย จะไม่ได้รับผลกระทบเลย แมลงปีกแข็งกลุ่มนี้ชอบไม้แห้ง โดยกินไม้ที่มีความชื้นเพียง 8%
ปริมาณแป้งในเนื้อไม้ลดลงเมื่อไม้อายุมากขึ้น ดังนั้นจึงมักไม่พบมอดขี้ขุยในไม้แก่ โดยมักพบในบ้านใหม่และผลิตภัณฑ์จากไม้เนื้อแข็งที่เพิ่งผลิต เช่น กรอบหน้าต่างและประตู บานประตู ไม้ปูพื้น ไม้อัด และเฟอร์นิเจอร์ มอดขี้ขุยมักไม่ทำลายโครงสร้างไม้เนื่องจากไม้เหล่านี้มักทำจากไม้เนื้ออ่อน ส่วนไม้ที่มีการเคลือบ เช่น ทาสี เคลือบเงา หรือลงแว็กซ์ จะไม่ถูกกินจากมอดภายนอก แต่มอดเหล่านี้อาจจะอยู่ในเนื้อไม้ตั้งแต่การแปรรูปและอาจจะออกมาให้เห็นภายหลัง
มอดเหล่านี้เรียกว่า มอดขี้ขุย เนื่องจากตัวอ่อนของมันจะผลิตผงละเอียดเหมือนฝุ่นแป้งอยู่สม่ำเสมอ พวกมันกินเนื้อไม้และขุดอุโมงค์อยู่ตลอด ซึ่งเป็นลักษณะที่แยกมันออกจากหนอนกินไม้ประเภทอื่น
ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่บนผิวไม้หรือในรอยแยก วงจรชีวิตของมันยาวนานตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปี ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้น และคุณภาพของสารอาหารในไม้
ด้วงหนวดยาว / ด้วงเจาะบ้าน
ด้วงหนวดยาว / Hylotrupes bajulus เป็นแมลงถิ่นยุโรป แต่แพร่กระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลกผ่านการค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นแมลงรบกวนกระพี้ไม้เนื้ออ่อนที่ผ่านการผึ่งแห้ง ชอบอยู่ในไม้ใหม่มากกว่าไม้เก่า จึงมักพบในบ้านสร้างใหม่ วงจรชีวิตยาวนานได้ถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมและสารอาหารในเนื้อไม้ซึ่งจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
การระบาดในบ้านเรือนเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักคือ การใช้ไม้ที่มีไข่หรือตัวอ่อนของด้วงเหล่านี้อยู่แล้ว พวกมันกินไม้โดยเฉพาะบริเวณใกล้พื้นผิวจนโตเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนของหนอนเจาะไม้ชนิดอื่นๆ โดยมีขนาดตัวยาวได้ถึง 2.5 ซม. และเจาะรูออกขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 มม.
ด้วงหนวดยาว Anoplophora longhorn beetles (FERA)
ด้วงหนวดยาวเอเชีย (Anoplophora glabripennis) และ ด้วงส้ม (Anoplophora chinensis) เป็นแมลงท้องถิ่นเอเชียตะวันออก แต่มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นของโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ ด้วงหนวดยาวเอเชียเป็นศัตรูของต้นไม้เนื้อแข็งที่ปลูกอยู่ริมถนนในประเทศจีน และกลายมาเป็นแมลงรบกวนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มักเป็นแมลงศัตรูไม้สายพันธุ์ Acer ส่วนด้วงส้มเป็นแมลงศัตรูของไม้ต้นและไม้พุ่มกว่า 100 สายพันธุ์ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
การพบด้วงชนิดนี้มักเกี่ยวข้องกับไม้ที่นำเข้าจากประเทศจีนและเกาหลี ทั้งสองสายพันธุ์ได้รับการบันทึกในระเบียบการนำเข้าพืชของ EU Plant Health Directive สหภาพยุโรป ส่วนในสหรัฐอเมริกา Department of Agriculture and the Forest Service ซึ่งดูแลการเกษตรและป่าไม้ กำหนดให้มีการแจ้งกับหน่วยงานหากพบด้วงหนวดยาวเอเชีย
ด้วงหนวดยาวเอเชียเพศเมียตัวเต็มวัย จะกัดทำหลุมขนาดเล็กในเปลือกไม้เพื่อวางไข่ทีละใบ ตัวอ่อนจะกินอาหารอยู่ในชั้นลำเลียงของต้นไม้ ด้วงส้มจะกัดกินส่วนล่างของต้น ในขณะที่ด้วงหนวดยาวเอเชียจะกัดกินลำต้นส่วนบนและกิ่งก้าน ตัวเต็มวัยจะเจาะรูออกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มม.
ด้วง Wharf borer
หรือ Narcerdes melanura พบในประเทศเขตภูมิอากาศอบอุ่น เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ยกเว้นรัฐฟลอริดา ด้วงชนิดนี้มักพบบริเวณที่มีไม้ชื้นผุ เช่น ท่าเรือ ที่จอดเรือ ท่าเรือข้ามฟากริมแม่น้ำหรือทะเล ตัวเมียมักวางไข่บนไม้ผุและไข่จะฟักภายใน 5-11 วัน ตัวอ่อนจะขุดโพรงใต้ผิวไม้ลึกประมาณ 1 ซม. และขุดอุโมงค์เข้าไปในเนื้อไม้เพื่อกินอาหาร ระยะตัวอ่อนใช้เวลาตั้งแต่สองเดือนถึงสองปีขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ตัวเต็มวัยจะไม่กินอาหาร มีอายุไม่กี่วันเพื่อจับคู่และหาที่วางไข่ใหม่ ด้วง Wharf borer เป็น ‘แมลงรบกวนทุติยภูมิ’ เนื่องจากมันกินไม้ที่ผุแล้ว แต่อุโมงค์ของมันสามารถทำให้ไม้อ่อนแอได้
ด้วงเจาะเปลือกไม้ ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในหมวดพิเศษของวงศ์แมลงปีกแข็งจำพวกด้วง เรียกว่า Curculionidae ในวงศ์ย่อย Scolytinae ซึ่งมีประมาณ 6,000 สายพันธุ์ใน 220 สกุล
ด้วงเจาะเปลือกไม้ เป็นทั้งศัตรูของต้นไม้ ทั้งการป่าไม้และการเกษตร และท่อนไม้ที่อยู่ระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้าย พวกมันปล่อยราทำลายเนื้อไม้ ทำให้ต้นไม้ตายหรือทำให้ไม้ที่จัดเก็บผุ กรมป่าไม้ของสหรัฐอเมริกาได้บันทึกสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อไม้ซึ่งเกิดจากการค้าไม้ข้ามประเทศจำนวน 53 สายพันธุ์
ในธรรมชาติ ด้วงเจาะเปลือกไม้มีความสำคัญในการย่อยสลายไม้ที่อ่อนแอและกำลังตาย และสร้างที่อาศัยให้กับแมลงและราชนิดอื่น นอกจากนั้นมันยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างผืนดินให้ต้นไม้ใหม่เติบโต และสร้างความหลากหลายในระบบนิเวศป่า
อย่างไรก็ตาม บางสายพันธุ์มีการแพร่กระจายไปทั่วป่าโดยมีการกระจุกแน่นของสายพันธุ์เดียว ทำให้ไม้ถูกทำลายเป็นวงกว้าง สิ่งนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงไฟป่าสูง เหมือนที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2015 ซึ่งคาดว่าด้วงเจาะเปลือกไม้อยู่ในต้นไม้หนาแน่นเนื่องจากเกิดความแห้งแล้งที่ยาวนาน พื้นที่มากกว่า 40,000 เอเคอร์ติดไฟป่าภายใน 12 ชั่วโมง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times (14 ก.ย. 2015: www.latimes.com/local/lanow/la-me-ln-bark-beetles-valley-fire-20150914-story.html)
ตัวเมียวางไข่ในชั้น phloem ของไม้ ซึ่งเป็นชั้นด้านในของเปลือกไม้ถัดจากกระพี้ไม้ที่มีความชื้นอยู่ บางสายพันธุ์ขุดห้องอยู่ในเปลือกไม้เพื่อวางไข่และผสมพันธุ์ ตัวอ่อนกินเนื้อเยื่อชั้น phloem ทำให้เห็นเป็นลายอุโมงค์จากด้านนอกของไม้
ตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนปีกใส บางสายพันธุ์ในวงศ์ Xyloryctidae (ออสเตรเลีย) และ Sesiidae (ยุโรป อเมริกาเหนือ เขตร้อน ออสเตรเลีย) เป็นแมลงกินไม้ที่เป็นศัตรูทั้งกับไม้ประดับและไม้ใช้งาน Sesiidae มีมากกว่า 1,300 สายพันธุ์ หลายสายพันธุ์มีลักษณะและพฤติกรรมเหมือนตัวต่อและแตน ทำให้มันออกหากินตอนกลางวันได้ ซึ่งต่างกับผีเสื้อกลางคืนส่วนใหญ่
ตัวเมียวางไข่ในช่องว่าง หรือรอยแตกของเปลือกไม้ หลังจากฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะขุดเข้าไปในเปลือกไม้และกระพี้ไม้ พวกมันมีเป้าหมายเป็นต้นไม้ที่อ่อนแอและเสียหายอยู่แล้ว เช่น ไม้ที่เสียหายจากความแห้งแล้ง หรือการทำลายในสหรัฐอเมริกา ผีเสื้อกลางคืนปีกใสจะอาศัยอยู่ในไม้อัลเดอร์ (Alder) แอช (Ash) เบิร์ช (Birch) เฟอร์ (Fir) โอ๊ค (Oak) สน (Pine) พอปลาร์ (Poplar) ซีคามอร์ (Sycamore) วิลโลว์ (Willow) และไม้ผลอีกหลายชนิด มีผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีหนอนพยาธิ nematode ซึ่งเป็นปรสิตเฉพาะสำหรับควบคุมการระบาดของผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้
ศึกษาวิธีกำจัดผีเสื้อกลางคืนจากสถานที่ของคุณ